เรียนรู้เรื่องสารเคมีจากข่าว : สารโซเดียมไนไตรท์
29 พฤษภาคม 2566

จากข่าวกรณีพบเด็กป่วยและเกิดภาวะ methemoglobinemia หลังรับประทานไส้กรอก (link ข่าว : https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2219) ภายหลังการตรวจสอบ พบว่าเกี่ยวข้องกับการรับประทานไส้กรอกที่มีปริมาณสาร“โซเดียมไนไตรท์” มากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด


650203_0158316001643869843.jpg



โซเดียมไนไตรท์มีลักษณะเป็นผลึกเม็ดเล็กสีขาวอมเหลือง ไม่มีกลิ่น ละลายในน้ำได้ สามารถพบได้ตามปฏิกิริยาธรรมชาติและสังเคราะห์ผ่านปฏิกิริยาเคมี

มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ และมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน จึงนิยมเติมลงในผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก หมูยอ แหนม เพื่อให้เนื้อสัตว์แปรรูปเกิดสีแดงอมชมพูคงตัวน่ารับประทาน มีสี กลิ่นรส และเนื้อสัมผัสที่ดีตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา

ในทางการแพทย์ มีการใช้สารละลาย sodium nitrite ร่วมกับ Sodium thiosulfate สำหรับต้านพิษจากการได้รับ Cyanide เกินขนาด นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรเป็นส่วนผสมของสารกำจัดวัชพืช และยังใช้ในอุตสาหกรรมด้านสีและการก่อสร้าง

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้โซเดียมไนไตรท์เป็นสารคงสภาพสีหรือสารกันเสียในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งตัวหรือตัดแต่ง ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและเนื้อสัตว์บด และกำหนดปริมาณโซเดียมไนไตรท์สูงสูดที่ 80 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัมอาหาร

การรับประทานโซเดียมไนไตรท์ปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการแสดงของการขาดออกซิเจนได้แก่ ภาวะเนื้อเยื่อสีเขียวคล้ำ(Methemoglobinemia) หัวใจเต้นผิดจังหวะ ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว และมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางตั้งแต่อาการเล็กน้อย มึนศีรษะ เซื่องซึม หมดสติ และอาจรุนแรงถึงชักได้ 

คำแนะนำการเลือกซื้ออาหารอย่างปลอดภัย

1. เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีสีไม่แดงมากจนเกินไป

2.รับประทานอาหารหลากหลายชนิด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดเดิมปริมาณมากและบ่อยครั้ง

3.ตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ยี่ห้อ ส่วนประกอบที่ใช้และปริมาณ วัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ