ความเป็นมา


ทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย หรือ Thailand Existing Chemicals Inventory (TECI) เป็นผลงานความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2555-2564) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี


จุดประกายเริ่มต้นในการจัดทำทำเนียบรายการสารเคมี สืบเนื่องจาก ที่ผ่านมาประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีมากถึง 11 กระทรวง ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องรวม 21 ฉบับ แต่ละหน่วยงานจะมีฐานข้อมูลสารเคมี ที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในหน่วยงาน และฐานข้อมูลแต่ละหน่วยงานก็ไม่สามารถจะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นและเหตุผลสำคัญในการจัดทำทำเนียบรายการสารเคมีฉบับนี้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่ทำให้ทราบว่ามีการใช้สารเคมีอะไรบ้าง จำนวนมากน้อยเพียงใดที่นำมาใช้ในทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม สาธารณสุข ผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค เป็นต้น รวมทั้งการนำไปใช้นั้นถูกควบคุมกำกับด้วยกฎหมายฉบับใดและมีสารเคมีอะไรบ้างที่ประเทศจะต้องปฏิบัติข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสารเคมีที่ได้มีการทำข้อตกลง


การจัดทำทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2555-2564) ดังนี้


ปี พ.ศ.2556

มีการศึกษาความเหมาะสมการจัดทำฐานข้อมูลกลางสารเคมีของประเทศโดยศึกษาการจัดการฐานข้อมูลตามลำดับการเคลื่อนย้ายของสารเคมีในประเทศ ที่ควรเข้ามาสู่การจัดทำระบบข้อมูล จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาช่องว่างการจัดการที่มีอยู่ของหน่วยงาน แล้วพิจารณาความจำเป็นของการมีฐานข้อมูลกลางสารเคมี และประโยชน์ของการมีฐานข้อมูลกลางสารเคมีเพื่อเติมเต็มช่องว่างของการจัดการข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล การสื่อสารข้อมูลสู่สาธารณะ และการจัดการสารเคมีของประเทศโดยรวม จากนั้นพิจารณารูปแบบของฐานข้อมูลกลางสารเคมีที่มีขนาดเหมาะสมที่สามารถจะใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงานให้มากที่สุด โดยไม่ต้องสร้างหรือหาข้อมูลใหม่ซึ่งต้องใช้งบประมาณการดำเนินงานจำนวนมาก


ปี พ.ศ. 2557

มีการนำร่องการจัดทำทำเนียบสารเคมีแห่งชาติ โดยรวบรวมข้อมูลสารเคมีที่มีอยู่จากการนำเข้าสารเคมีจากกรมศุลกากร สารเคมีและวัตถุอันตรายพิกัดที่ 25 – 40 และจากสารเคมีที่ผลิตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มต้นนำร่องจัดทำข้อมูลที่นำเข้าและผลิตในประเทศ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นปีที่มีการฮาร์โมไนซ์พิกัดศุลกากรโลกเพื่อนำมาจัดทำทำเนียบสารเคมีแห่งชาติอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต


ปี พ.ศ. 2558

จัดทำทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย (Thailand Existing Chemicals Inventory) ปี 2555 สำหรับสารเดี่ยว อย่างเต็มรูปแบบสำหรับสารเคมีและวัตถุอันตรายที่นำเข้าตามพิกัดพิกัดที่ 25 –38 และสารเคมีหรือวัตถุอันตรายจากการผลิตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เพื่อจัดทำเป็นทำเนียบสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการนำไปใช้ในการควบคุมจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบและครอบคลุมต่อไป


ปี พ.ศ. 2559 - 2560

จัดทำทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย (Thailand Existing Chemicals Inventory) ปี 2559 อย่างเต็มรูปแบบสำหรับสารเดี่ยวและสารผสม สำหรับสารเคมีและวัตถุอันตรายพิกัดที่ 25 – ที่ 38 และสารเคมีหรือวัตถุอันตรายจากการผลิตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เพื่อจัดทำเป็นทำเนียบสารเคมีแห่งชาติอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับใช้ในการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งสารเคมีที่มีอยู่เดิม สารเคมีใหม่ที่จะผลิตขึ้นและที่จะนำเข้ามาซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ป้องกันการนำเข้าสารเคมีอันตรายและสินค้าด้อยคุณภาพที่มีสารเคมีอันตรายเจือปนเข้ามาในประเทศ และป้องกันไม่ให้ประเทศไทยถูกใช้เป็นฐานการผลิตสารเคมีอันตราย หรือใช้เป็นทางผ่านของสารเคมีอันตราย ภายใต้ยุคของการเปิดการค้าเสรีและการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่จะมีมากขึ้นในอนาคต


ปัจจุบันประเทศไทย มีทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย (Thailand Existing Chemicals Inventory) รวม 2 ฉบับ คือ ทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทยปี 2555 สำหรับสารเดี่ยวซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี ที่มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานฯ และทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย ปี 2559 สำหรับสารเดี่ยวและสารผสม