คำอธิบายเกี่ยวกับทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย
1.นิยามสารเคมี
สารเคมี หรือ chemical substance หมายถึง ธาตุและส่วนประกอบที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือที่เกิดจากกระบวนการ โดยสารเคมีที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ มีลักษณะที่แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ สารเคมีที่เป็นสารเดี่ยว สารเคมีที่เป็นสารผสม และสารเคมีที่เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งในกรณีของทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทยนี้ กำหนดนิยามของสารเคมีที่เป็นสารเดี่ยว สารเคมีที่เป็นผสม และสารเคมีที่เป็นผลิตภัณฑ์ อ้างอิงตามการกำหนดของกฎระเบียบว่าด้วยสารเคมีของสหภาพยุโรป (Regulation EC no. 1906/2007on Registration, Evaluation, Authorization and Restriction on Chemicals หรือ EU REACH) ดังนี้
สารเดี่ยว (substance) หมายถึง ธาตุและส่วนประกอบที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือ ที่เกิดจากกระบวนการผลิต ซึ่งรวมถึงสารเจือปนที่จำเป็นสำหรับการคงตัวของสารและสารปนเปื้อนจากกระบวนการผลิต แต่ไม่รวมตัวทำละลายที่สามารถแยกออกได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อการคงตัวของสารหรือทำให้องค์ประกอบของสารนั้นเปลี่ยนแปลงไป
สารผสม (preparation) หมายถึง ของผสมหรือสารละลายที่ประกอบด้วย สารเคมีตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป
ผลิตภัณฑ์ (article) หมายถึง วัตถุที่เกิดจากการนำสารเคมี ไปผ่านกระบวนการผลิตให้เกิดรูปร่างเฉพาะ พื้นผิว หรือรูปแบบ แล้วทำให้ใช้งานได้เกินกว่าลำพังสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของมันจะทำได้
2.ขอบเขตของข้อมูล
สำหรับทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย ปี 2555 จัดทำขึ้นโดยรวบรวมข้อมูลรายการสารเคมีที่มีใช้ในตลาดในประเทศ เฉพาะสารเดี่ยว ที่นำเข้าและผลิตในประเทศ ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ส่วนทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย ปี 2559 จัดทำขึ้นโดยรวบรวมข้อมูลรายการสารเคมีที่มีใช้ในตลาดในประเทศ ทั้งสารเดี่ยว และสารผสม ที่นำเข้าแลผลิตในประเทศ ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
3. แหล่งที่มาของข้อมูล
ข้อมูลนำเข้า รวบรวมและคัดเลือกข้อมูลจากกรมศุลกากรเป็นข้อมูลรายการสินค้าที่ถูกนำเข้าตามพิกัดศุลกากรสำหรับการนำเข้า/ส่งออก สารเคมีและวัตถุอันตราย ตั้งแต่ตอนที่ 25 – ตอนที่ 38 ภายใต้หมวดที่ 5 และหมวดที่ 6 ซึ่งดึงข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางหรือ Main Frame ตามรายใบขน และข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานอื่นในส่วนของสารเคมีที่หน่วยงานนั้นเกี่ยวข้อง คือ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
ข้อมูลการผลิต
ข้อมูลสารเคมีที่ผลิตในประเทศ รวบรวมและคัดเลือกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสารเคมีและการผลิตสารเคมีตามกฎหมาย ได้แก่
1.กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นข้อมูลของการขออนุญาตประกอบกิจการ อันเนื่องมาจากเนื่องมาจากพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ดังนี้
โรงงานประเภทที่ 42 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมีซึ่งไม่ใช่ปุ๋ย
โรงงานประเภทที่ 43 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับปุ๋ยหรือสารป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์ (Pesticides)
โรงงานประเภทที่ 48 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เคมี
โรงงานประเภทที่ 89 โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่ายก๊าซ
2.กรมธุรกิจพลังงาน สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตเชื้อเพลิงในประเทศ
3.กรมการอุตสาหกรรมทหาร สนับสนุนข้อมูลการผลิตยุทธภัณฑ์ประเภทสารเคมี
ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
4.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสนับสนุนข้อมูลการผลิตสารเคมี จากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 17 แห่งทั่วประเทศ คือ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์น นิคมอุตสาหกรรมเวลโกร์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร นิคมอุตสาหกรรมหนองแค นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล